Omicron is coming to town. โอมิครอนล่าสุด วัคซีนโควิด 2 เข็มอาจเอาไม่อยู่
โอมิครอนเป็นโควิดสายพันธุ์หลักในประเทศไทยอยู่ตอนนี้ แม้ว่าจะมีสายพันธุ์ย่อยเข้ามาจากกลุ่มผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร หรือเกิดการกลายพันธุ์ในบ้านเราเอง แต่ก็ยังพบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่ยืนหนึ่ง
อาการโอมิครอน ไม่รุนแรง ใครติดก็อาจจะยังไม่รู้ตัวว่าติด อาการหลักๆ คือ เจ็บคอ เวียนศีรษะ ผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วก็จะพบว่ามีอาการคล้ายไข้หวัดเท่านั้น ปัจจุบันกำลังจะก้าวข้ามปี 2565 แนวโน้มสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ก็ยังคงเป็นโอมิครอนอยู่
สรุป 3 ปี กับโควิด-19 ในประเทศไทย
ไทม์ไลน์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน
- ปี 2020 ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางผ่านเข้าประเทศจำนวนทั้งหมด 246,838 คน พบผู้ติดเชื้อยืนยัน 2,143 คน คิดเป็น 0.87%
- ระบาดระลอกที่ 1 ช่วงเดือนมีนาคม 2020 จากคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี จำนวนผู้ป่วยยืนยัน 4,008 คน เสียชีวิต 60 คน
- ระบาดระลอกที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม 2020-มีนาคม 2021 จากคลัสเตอร์สมุทรสาคร ภายใน 4 เดือนนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปีก่อน มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 24,881 คน เสียชีวิต 34 คน
- ระบาดระลอกที่ 3 ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2021 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนเกือบ 6 เท่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 133,159 คน และเสียชีวิต 975 คน
- ระบาดระลอกที่ 4 ช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2021 เป็นช่วงที่พบสายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก พบผู้ติดเชื้อ 2,016,254 คน เสียชีวิต 20,285 คน
ปัจจุบันใกล้หมดปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 4.7 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 33,106 คน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาด
ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกช่วงต้นปี 2020 และทางรัฐก็เตรียมแผนป้องกันโควิดไว้อย่างรัดกุม ด้วยการออกกฎหมายควบคุมการเดินทาง และจัดการโรคระบาด กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
2. พระราชบัญญัติ การเดินอากาศ พ.ศ. 2562
3. พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
4. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
5. พระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ
6. International Health Regulations 2005
เทคโนโลยีที่ใช้จัดการโควิด-19
ประเทศไทยยังมีความรวดเร็วในการจัดการและรายงานโรค ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบจัดการสุขภาพ ได้แก่
เราได้ใช้แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อตรวจสอบสังเกตอาการตัวเองว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ พร้อมลงทะเบียนรับวัคซีน และรายงานผลข้างเคียงไปยังส่วนกลาง
2. แอปพลิเคชัน “หมอชนะ”
หมอชนะ ช่วยให้ประชาชนได้ตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเองเมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และเป็นข้อกำหนดความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการทราบว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่
3. หุ่นยนต์ผู้ช่วย
หุ่นยนต์ผู้ช่วยถูกออกแบบมาให้เดินทางเข้าไปหาผู้ป่วยเพื่อสอบถามอาการ ส่งยา และเป็นตัวแทนระหว่างหมอ พยาบาล พูดคุยกับคนไข้เพื่อเว้นระยะการสัมผัส
4. รถ Ambulance 5G
รถตรวจโควิดเคลื่อนที่ ที่เข้าถึงพื้นที่คลัสเตอร์เสี่ยง และเก็บตัวอย่างผลไปตรวจยืนยันกับทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ผลการระบาดได้เร็ว
5. Dashboard รายงานผลจากส่วนกลาง
เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต ก็จะถูกส่งรายงานมายังส่วนกลาง เพื่อใช้ข้อมูลนี้วางแผนการจัดการโรคระบาดต่อไป
6. ระบบ Social Media
ปัจจุบัน Social Media เป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทางรัฐจึงเห็นความสำคัญและเผยแพร่ข้อมูลของเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนได้รับรู้ได้ง่าย
สายพันธุ์โควิดที่ระบาดในประเทศไทยล่าสุด
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สรุปสายพันธุ์โควิด-19 ในรอบการระบาดช่วงปี 2565 ไว้ดังนี้
- เดือนมกราคม เป็นสายพันธุ์เดลตา และตามมาด้วยโอมิครอน
- เดือนกุมภาพันธ์ สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก โดยเฉพาะ BA.1 และเริ่มพบ BA.2
- เดือนมีนาคม สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.1 และ BA.2
- เดือนเมษายน สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.2
- เดือนพฤษภาคม สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.2
- เดือนมิถุนายน สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.2
- เดือนกรกฎาคม สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.5 แต่ยังพบ BA.2
- เดือนสิงหาคม สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.5 แต่ยังพบ BA.2 และสายพันธุ์อื่นๆ
- เดือนกันยายน สายพันธุ์หลักคือโอมิครอน BA.5 แต่ยังพบ BA.2 และสายพันธุ์อื่นๆ
อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4/BA.5 สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC)
องค์การอนามัยโลกประกาศให้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) โดยเกิดการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R เช่นเดียวกับการกลายพันธุ์บนสายพันธุ์เดลตา ทำให้เชื้อไวรัสตัวนี้แบ่งตัวเข้าสู่เซลล์ในปอดได้อย่างดี จึงเกิดการติดเชื้อปอดอักเสบได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น และมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
อาการการติดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4/BA.5
- อ่อนเพลีย
- มีไข้ และไอ
- เจ็บคอ
- มีน้ำมูก
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1/BA.2 สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC)
ขณะเดียวกัน โอมิครอนสายพันธุ์ BA.1/BA.2 เป็นไวรัสที่มีความสามารถแบ่งตัวได้ดีในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ไอ เจ็บคอ
อาการการติดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.1/BA.2
- อ่อนเพลีย
- ไอ
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เจ็บคอ
อาการโอมิครอน สายพันธุ์ต่างๆ
- อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4.6 ภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ หรือเคยได้รับวัคซีนมาก่อน ลบล้างหรือฆ่าเชื้อสายพันธุ์ BA.4.6 ได้น้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง
- อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.3.20 มีแนวโน้มแพร่เร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง
- อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกในอินเดีย ในเดือนพฤษภาคม แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
- อาการโอมิครอน สายพันธุ์ AY.103 เป็นลูกหลานของโควิดสายพันธุ์เดลตา ไม่มีรายงานว่ารุนแรงเพิ่มขึ้น
- อาการโอมิครอน สายพันธุ์ BQ.1 ระบาดในอเมริกาและยุโรป ยังไม่พบความรุนแรงและไม่พบอัตราการแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น
- อาการโอมิครอน สายพันธุ์ XBB ระบาดในสิงคโปร์ ยังไม่พบความรุนแรงและไม่พบอัตราการแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น
สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโควิด-19 เพื่อรับมือในปี 2566
- โอมิครอนเป็นสายพันธุ์โควิดที่มีแนวโน้มเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยปี 2566 โดยเฉพาะโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.2.75
- การสวมหน้ากากอนามัย ช่วยลดการติดโรคทางเดินหายใจได้หลายโรค พบว่าช่วยลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จากช่วงที่เคยระบาดด้วย
- คนไทยส่วนหนึ่งยังขาดความเข้าใจในการฉีดวัคซีน และไม่เข้ารับการฉีดเข็ม 1
- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คือผู้ที่มีความสำคัญต่อการควบคุมโรคติดเชื้อใหม่ๆ อสม. เป็นหลักที่ช่วยในการให้ความรู้ และเป็นตัวกลางที่ช่วยพาประชาชนในท้องถิ่นมาเข้ารับวัคซีน และให้ความรู้ความเข้าใจโรคโควิด-19
- คนไทยส่วนหนึ่งที่ฉีดวัคซีนครบโดสไปในปีที่แล้ว คิดว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็มก็เพียงพอต่อการระบาด แต่จากผลวิจัยทั่วโลกพบว่าควรจะฉีดเข็มกระตุ้น
- ปัจจุบัน (25 พ.ย. 2565) คนไทยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้ว 46.6% ซึ่งต้องได้รับ 70% ขึ้นไป จึงจะมีนัยสำคัญต่อการควบคุมการระบาดระลอกใหม่
โอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 มีโอกาสติดเชื้อซ้ำในผู้ที่เคยติดโควิดแล้ว อาการของสายพันธุ์ BA.5 ที่โดดเด่นคือ อ่อนเพลีย ไอ และเป็นไข้พร้อมๆ กัน และมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงเข้าสู่ปอดได้ หากเริ่มมีอาการทางเดินหายใจ ให้หลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน เว้นระยะห่าง แยกใช้ช้อนกลางกับคนในครอบครัว และหากยังไม่ได้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็ติดต่อขอรับกับหน่วยสาธารณสุขใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องรอติดเชื้อก่อน
อ้างอิง :
- กรมวิทย์ฯ เผยไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.3.20 ในไทยแล้ว 2 ราย มีแนวโน้มแพร่เร็ว ขณะที่ BA.4.6 ซึ่งมีแนวโน้มหลบภูมิได้ดี พบในไทยจำนวน 3 ราย, https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1722, (2 พ.ย. 65)
- สธ. แถลงสถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย BA.5 พบมากสุด ส่วน XBB พบในไทยแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างนำเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID, https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1708, (17 ต.ค. 65)
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลาน เช่น BN.1, BL.2 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็ว ส่วน BQ.1 พบในไทยแล้ว 9 ราย XBB พบจำนวน 13 ราย, https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1731, (22 พ.ย. 65)
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : Omicron is coming to town. โอมิครอนล่าสุด วัคซีนโควิด 2 เข็มอาจเอาไม่อยู่