รถไฟทางไกล เตรียมลาหัวลำโพง ไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ม.ค. 66
ผู้โดยสารโปรดทราบ นับถอยหลังเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กลางเดือน ม.ค. 2566 ย้ายขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ รถด่วนพิเศษ รถด่วน เหนือ อีสาน ใต้ เตรียมงดเข้าจอดที่หัวลำโพง ส่วนรถธรรมดา ชานเมือง ยังอยู่
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย กับไทยรัฐออนไลน์ว่า ในกลางเดือนมกราคม 2566 หรือไม่เกินสิ้นเดือนมกราคม 2566 จะย้ายการให้บริการขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ไปยังสถานีกลางบางซื่อ หรือชื่อปัจจุบันคือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ส่วนขบวนรถไฟเชิงสังคม จะยังคงให้บริการที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
“จนถึงขณะนี้ ยังมีความเข้าใจผิดกันว่า การรถไฟฯ จะปิดให้บริการที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะที่สถานีหัวลำโพงยังคงให้บริการต่อไป ไม่มีแผนปิดการใช้งาน โดยล่าสุดบอร์ดได้รับทราบแผนการใช้งานของสถานีรถไฟทั้งสองแห่งว่า ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะให้บริการขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ส่วนหัวลำโพงให้บริการขบวนรถไฟเชิงสังคม”
คำนิยามของขบวนรถไฟบริการเชิงพาณิชย์ หมายถึง รถด่วนพิเศษ (Special Express) รถด่วน (Express) และขบวนรถเร็ว (Rapid ) ที่มีบริการโบกี้นั่ง และนอนชั้นที่ 1 ปรับอากาศ รถโบกี้นั่ง และนอนชั้น 2 ปรับอากาศ และรถดีเซลรางปรับอากาศ เป็นประเภทรถที่ให้บริการโดยมีตัวเลือกเสริม เช่น รถปรับอากาศ รถนอน ดังกล่าว รวมถึงรถที่มีอาหารบริการ หรือเป็นขบวนที่มีการจอดรับส่งผู้โดยสารไม่ทุกสถานี โดยมีขบวนรถเชิงพาณิชย์นี้อยู่ 56 ขบวนต่อวัน ที่วิ่งให้บริการเส้นทางเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ ต้นทางไปกลับกรุงเทพฯ ที่มีปลายทาง ดังนี้
- กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
- กรุงเทพฯ-สวรรคโลก-ศิลาอาสน์
- กรุงเทพฯ-ศิลาอาสน์
- กรุงเทพฯ-เด่นชัย
- กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี
- กรุงเทพฯ-หนองคาย
- กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่
- กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก
- กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย)
- กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี
- กรุงเทพฯ-ยะลา
- กรุงเทพฯ-กันตัง
- กรุงเทพฯ-ตรัง
- กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช
- ชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก
สำหรับในช่วงแรกจำนวนขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ จะย้ายมาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อเท่าไรนั้น ผู้ว่า รฟท. ชี้แจงว่าจะประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนเมื่อต้องจองตั๋วโดยสาร
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รถไฟทางไกล เตรียมลาหัวลำโพง ไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ม.ค. 66